ประวัติ ของ ไรอัน ไวต์

ชีวิตช่วงแรกและการป่วย

ไรอัน ไวต์ เกิดที่โรงพยาบาลเซนต์ยอเซฟเมโมเรียล ในโคโคโม รัฐอินดีแอนา เป็นบุตรของ ญอง เอเลน (เฮล) กับฮิวเบิร์ต เวย์น ไวต์ พออายุได้ 6 วัน แพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นฮีโมฟิเลีย เอ ชนิดรุนแรง ซึ่งตกทอดผ่านพันธุกรรม การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ที่เกิดจากความผิดปกติของยีนในโครโมโซม X ซึ่งในบางกรณีแม้กระทั่งบาดเจ็บเล็กน้อยอาจมีผลให้เลือดไหลไม่หยุดอย่างรุนแรง สำหรับการรักษา เขาได้รับ แฟกเตอร์ VIII ซึ่งผลิตมาจากพลาสม่าของผู้ไม่มีโรคฮีโมฟิเลีย ซึ่งเป็นวิธีการรักษาโรคเฮโมฟิเลียที่ใช้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะนั้น[3]

โดยรวมแล้วเขามีสุขภาพดีในช่วงวัยเด็ก จนกระทั่งล้มป่วยขั้นรุนแรงด้วยโรคปอดบวม ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1984 และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1984 ในขณะที่ดำเนินการเอาปอดออกบางส่วน ไวต์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเอดส์ สันนิษฐานว่าติดเชื้อจากการรักษาด้วยแฟกเตอร์ VIII ที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อเอชไอวี ในสมัยนั้นสังคมมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเอดส์ไม่มาก นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบในช่วงต้นปีนั้นว่าเชื้อเอชไอวีเป็นสาเหตุของโรคเอดส์ และเนื่องจากเอชไอวีเพิ่งถูกค้นพบได้ไม่นาน เลือดสำรองจำนวนมากเป็นเลือดที่ติดเชื้อเพราะแพทย์ไม่รู้วิธีตรวจสอบเชื้อโรค และผู้บริจาคไม่รู้ตัวว่าพวกเขาติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคเฮโมฟิเลียที่รับการรักษาด้วยปัจจัยการแข็งตัวของเลือดระหว่างปี 1979 ถึง 1984 เกือบ 90% ติดเชื้อเอชไอวี[3] ในเวลานั้นการวินิจฉัยของไวต์ ค่า CD4 ของเขาตกลงไปที่ 25 (ค่าปกติอยู่ที่ประมาณ 1,200) แพทย์คาดว่าไวต์จะมีชีวิตอยู่ในอีกเพียง 6 เดือนเท่านั้น[4]

หลังจากการตรวจพบ ไวต์ป่วยเกินไปที่จะกลับไปเรียนต่อ แต่ในช่วงต้นปี 1985 เขาเริ่มมีอาการดีขึ้น แม่ของเขาถามถึงเรื่องการไปเรียนต่อ แต่เจ้าหน้าที่โรงเรียนกลับบอกว่าเขาไม่ควรกลับมา วันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1985 คำขออนุญาตอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการกลับเข้ามาเรียนต่อถูกเจมส์ โอ. สมิธ ผู้อำนวยการเวสเทิร์นสคูลคอร์โปเรชันปฏิเสธ และเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ทางกฎหมายซึ่งใช้เวลากว่า 8 เดือน[5]

การต่อสู้กับโรงเรียน

ลำดับเวลาการต่อสู้กับโรงเรียน
ปีการศึกษา 1985–86
30 มิ.ย.ผู้อำนวยการ เจมส์ โอ. สมิธ ปฏิเสธไม่ให้ไวต์กลับเข้าเรียน[6]
26 ส.ค.วันแรกของปีการศึกษา ไวต์ได้รับอนุญาตให้ฟังเสียงเพื่อนร่วมชั้นผ่านทางโทรศัพท์[7]
2 ต.ค.ผู้อำนวยการโรงเรียนตัดสินใจห้ามไวต์มา[8]
25 พ.ย.กระทรวงศึกษาธิการรัฐอินดีแอนาตัดสินให้ไวต์ต้องกลับเข้าเรียน[9]
17 ธ.ค.คณะกรรมการโรงเรียนลงคะแนน 7-0 อุทธรณ์ต่อการตัดสิน[10]
6 ก.พ.เป็นอีกครั้งที่มีการตัดสินว่าไวต์สามารถเข้าเรียนต่อได้ หลังจากการสังเกตการณ์โดยเจ้าหน้าที่อนามัยฮาววาร์ดเคาน์ตี[11]
13 ก.พ.เจ้าหน้าที่อนามัยฮาววาร์ดเคาน์ตีระบุไวต์พร้อมกลับเข้าโรงเรียนได้[12]
19 ก.พ.ตุลาการฮาววาร์ดเคาน์ตีปฏิเสธเรื่องคำสั่งห้ามต่อไวต์[13]
21 ก.พ.ไวต์กลับเข้าเรียน บ่ายวันนั้นตุลาการอีกกลุ่มมีคำสั่งห้ามมิให้ไวต์ไปโรงเรียนอีกครั้ง[14]
2 มี.ค.ฝั่งต่อต้านไวต์จัดการประมูลเรี่ยไรเงินในยิมเนเซียมของโรงเรียนเพื่อขับไล่ไวต์ออก[15]
9 เม.ย.คดีไวต์เข้าสู่ศาลอุทธรณ์[16]
10 เม.ย.ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ แจ็ก อาร์. โอนีล ยกเลิกคำสั่งห้าม ไรอันจึงกลับสู่โรงเรียนได้[17]
18 ก.ค.ศาลอุทธรณ์อินดีแอนาปฏิเสธรับคำร้องเรียนเพิ่ม[18]

โรงเรียนของไวต์ โรงเรียนเวสเทิร์นมิดเดิล ในรัสเซียวิลล์ ได้รับความกดดันอย่างมากจากผู้ปกครองหลายคนและคณาจารย์ที่พยายามขัดขวางเขาหลังจากที่รับทราบข้อวินิจฉัยนี้อย่างถ้วนหน้า มีผู้ปกครอง 117 คน (จากจำนวนนักเรียน 360 คน) และครูอีก 50 คน ร้องทุกข์กับผู้นำโรงเรียนให้สั่งห้ามไวต์เข้าเรียน เนื่องจากความหวาดกลัวและการขาดความรู้เกี่ยวกับเอดส์นี้ อาจารย์ใหญ่และคณะกรรมการโรงเรียนก็เห็นด้วย ครอบครัวของไวต์ยื่นฟ้องคดีความเพื่อพยายามหาหนทางล้มเลิกการกีดกันนี้ โดยแรกได้ยื่นฟ้องกับ U.S. District Court ในอินดีแอนาโพลิส อย่างไรก็ตามศาลปฏิเสธคำร้อง จนกระทั่งมีการแก้ไขการอุทธรณ์[19] ในวันที่ 25 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่คณะกรรมการการศึกษาอินดีแอนาสั่งให้โรงเรียนปฏิบัติตามแนวทางของคณะกรรมการสุขภาพอินดีแอนา และอนุญาตให้ไวต์เข้าเรียนในโรงเรียน[20]

ในทศวรรษ 1980 คนยังไม่เข้าใจนักว่าเชื้อเอชไอวีแพร่กระจายได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์ทราบแต่ว่าแพร่ผ่านทางเลือดและไม่สามารถถ่ายทอดได้โดยการสัมผัสธรรมดา แต่ในปี 1983 สมาคมการแพทย์แห่งอเมริกา คิดว่า "หลักฐานบ่งบอกว่าการสัมผัสทางครัวเรือนอาจมีติดต่อเอดส์ได้" และความเชื่อว่าเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายได้ง่ายนั้นก็คงอยู่ต่อไป[21] เด็กที่เป็นเอดส์ยังหาพบยากอยู่ในช่วงเวลานั้นที่ไวต์ถูกไล่ออกจากโรงเรียน ศูนย์ควบคุมเชื้อโรคมีข้อมูลผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เป็นเด็กในสหรัฐอเมริกาเพียง 148 รายเท่านั้น[6] หลายครอบครัวในโคโคโมเชื่อว่า การอยู่ของเขาทำให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่สามารถรับได้[22] เมื่อไวต์ได้รับอนุญาตให้กลับโรงเรียน 1 วัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986 มีนักเรียน 151 คน จาก 360 คนขาดเรียน ไวต์ยังรับทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ แต่ก็มีหลายบ้านที่รับในเส้นทางของเขายกเลิกการสมัคร เพราะเชื่อว่าเชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อผ่านสิ่งพิมพ์ได้[5]

หนึ่งในคณะกรรมการสุขภาพรัฐอินดีแอนา ดร. วูดโรว์ มายเยอร์ส ที่เคยมีประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ในซานฟรานซิสโก และสหพันธ์กลางควบคุมเชื้อโรค ทั้งสองได้แจ้งต่อคณะกรรมการโรงเรียนว่าไวต์ไม่มีอันตรายต่อนักเรียนอื่น แต่คณะกรรมการและผู้ปกครองหลายคนก็ไม่สนใจคำแถลงนี้[5] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986 วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ เผยแพร่การศึกษาคน 101 คนที่ใช้เวลา 3 เดือนอยู่กับคนที่เป็นเอดส์อย่างใกล้ชิดแต่ไม่ได้มีการสัมผัสทางเพศใด ๆ การศึกษาสรุปว่าความอันตรายของการติดเชื้อ "น้อยมากถึงไม่มี" การสัมผัสรวมแม้กระทั่งใช้แปรงสีฟัน, ที่โกนหนวด, เสื้อผ้า, หวี และแก้วดื่ม ด้วยกัน รวมถึงนอนเตียงเดียวกันและสวมกอด จูบ กัน[23]

ในที่สุดไวต์ก็ได้กลับเข้ามาเรียนอีกครั้งในเดือนเมษายน มีกลุ่มครอบครัวหลายกลุ่มนำเด็กออกจากโรงเรียนและหาช่องทางเรียนที่โรงเรียนอื่นแทน[24] พวกเขายังคุกคามอย่างรุนแรงและการฟ้องร้องยังคงมีต่อไป ตามคำบอกเล่าของแม่ของไวต์ ผู้คนบนถนนมักจะตะโกนออกไปว่า "ไอ้กระเทย" ไปทางไรอัน[22] บรรณาธิการและผู้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ โคโคโมทริบบิวน์ ที่สนับสนุนไวต์ทั้งการตีพิมพ์และด้านการเงิน ก็ยังถูกตราหน้าว่าเป็นคนรักร่วมเพศและถูกข่มขู่คุกคามเอาชีวิต[22]

ไวต์เข้าเรียนที่โรงเรียนเวสเทิร์นมิดเดิล ระดับเกรด 8 (ม. 2) ในรุ่นปี 1986–87 แต่ก็รู้สึกไม่สบายใจและมีเพื่อนไม่กี่คน ทางโรงเรียนต้องการให้เขาใช้อุปกรณ์ เครื่องใช้แบบใช้แล้วทิ้งเลย และให้ใช้ห้องน้ำต่างหาก[25] การคุกคามยังมีต่อไป จนครอบครัวตัดสินใจย้ายออกจากโคโคโมเมื่อมีกระสุนยิงทะลุหน้าต่างห้องนั่งเล่นของไวต์[4] หลังจากจบปีการศึกษา ครอบครัวย้ายไปอยู่ ซิซีโร รัฐอินดีแอนา ที่ไวต์สมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมปลายฮามิลตันไฮตส์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1987 เหล่าผู้บริหารโรงเรียนก็เข้ามาต้อนรับเข้ามาต้อนรับครอบครัวไวต์ที่ค่อนข้างประหม่า ทั้ง โทนี คุ๊ก อาจารย์ใหญ่, ผู้อำนวยการระบบโรงเรียน บ็อบ จี. คาร์นอล อีกทั้งนักเรียนที่ศึกษาเกี่ยวกับเอดส์มาแล้ว ไม่กลัวที่จะเชกแฮนด์กับไวต์[26]

โฆษกระดับประเทศ

การเผยแพร่เรื่องของไวต์ทำให้เขาได้รับความสนใจในระดับประเทศ ท่ามกลางการเสนอข่าวในสื่อมวลชนที่เพิ่มขึ้นของกระแสโรคเอดส์ และในระหว่างปี 1985 และ 1987 จำนวนเรื่องข่าวที่เสนอเกี่ยวกับเอดส์ในสื่อมวลชนอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว[27] ในขณะที่ถูกแบ่งแยกในโรงเรียนมัธยม ไวต์ปรากฏตัวทางสื่อโทรทัศน์ในระดับประเทศและในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ เพื่อพูดถึงเรื่องความทุกข์ทรมานโรคร้าย ท้ายสุดเขาเป็นที่รู้จักจากการเป็นแบบในโปสเตอร์สำหรับปัญหาร้ายแรงของเอดส์ การปรากฏตัวเพื่อหาทุนและโครงการเพื่อการศึกษาสำหรับความผิดปกตินี้ ไวต์ร่วมหาเงินสาธารณะสงเคราะห์ให้กับเด็กผู้ป่วยโรคเอดส์ มีคนดังหลายคนปรากฏตัวควบคู่กับไวต์ ตั้งแต่เมื่อครั้งพิจารณาคดีจนถึงชีวิตที่เหลือของเขา เพื่อช่วยลบอคติของสังคมที่มีต่อผู้ป่วยโรคเอดส์ในทางไม่ดี นักร้อง จอห์น คูการ์ เมลเลนแคมป์, เอลตัน จอห์น และ ไมเคิล แจ็กสัน, นักแสดง แม็ตต์ ฟรูเวอร์, นักกระโดดน้ำ เกร็ก ลูกานิส, ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน และแนนซี เรแกน, แพทย์ทหาร ดร. ซี. เอเวอร์เร็ตต์ คูป, โค้ชบาสเกตบอลมหาวิทยาลัยอินดีแอนา บ็อบบี้ ไนต์ และนักบาสเกตบอล คารีม อับดุล-จับบา ทั้งหมดเป็นเพื่อนที่ดีต่อไวต์ เขายังเป็นเพื่อนกับเด็ก ๆ หลายคนที่ป่วยเป็นโรคเอดส์หรือมีสุขภาพทรุดโทรม[4]

ในช่วงชีวิตที่เหลือของเขา เขาออกรายการทอล์กโชว์ของฟิล โดนาฮิวอยู่บ่อย ๆ จากความโด่งดัง อะลิซซา มิลาโน ผู้โด่งดังจากรายการทีวีโชว์ Who's the Boss? ก็เข้ามาจูบเขา[4] เอลตัน จอห์น ช่วยเหลือครอบครัวไวต์ ซื้อบ้านให้อยู่ในซิเซโร และตอนอยู่มัธยมปลาย ไวต์ขับรถมัสแตงสีแดงเปิดประทุน ของขวัญที่ได้จากไมเคิล แจ็กสัน[2] ถึงอย่างไรก็ตาม จากชื่อเสียงและเงินบริจาคที่เข้ามา ไวต์ก็ยังกล่าวว่า เขาไม่ชอบเป็นที่สนใจต่อสาธารณะ เกลียดคำพูดที่ดูเหมือนจะกล่าวหาแม่เขาหรือการเลี้ยงดูเขาให้เจ็บป่วย และเน้นว่า เขายอมที่จะทิ้งชื่อเสียงไปเพื่ออิสรภาพจากโรคนี้[2]

ในปี 1988 ไวต์พูดต่อหน้าคณะกรรมการโรคเอดส์ของประธานาธิบดีเรแกน เขาบอกคณะกรรมการว่าเขาถูกกีดกันเมื่อตอนที่เขาพยายามจะกลับเข้าโรงเรียนในครั้งแรก แต่การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์นี้ ทำให้เขาได้รับการต้อนรับจากเมืองในซิเซโร ไวต์เน้นว่าประสบการณ์อันแตกต่างระหว่างในโคโคโมและซิเซโร เป็นตัวอย่างของพลังและความสำคัญในการให้การศึกษาเรื่องเอดส์[25]

ในปี 1989 เอบีซีออกอากาศภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง The Ryan White Story นำแสดงโดยลูคัส แฮส แสดงเป็นไรอัน, จูดิธ ไลต์ แสดงเป็นญอง และนิกกี ค็อกซ์ แสดงเป็นน้องสาว แอนเดรีย ไวต์ยังมีบทเล็ก ๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนนักแสดงที่เหลืออย่างเช่น ซาราห์ เจสซิกา พาร์กเกอร์ แสดงเป็นพยาบาลผู้เห็นอกเห็นใจ, จอร์จ ดซุนด์ซา แสดงเป็นแพทย์ และ จอร์จ ซี. สก็อตต์ แสดงเป็นนักกฎหมายที่ต่อต้านฝ่ายบริหารโรงเรียน[28] จากการสำรวจของนีลเส็นระบุว่าภาพยนตร์นี้มีผู้ชมประมาณ 15 ล้านคน[29] มีบางครอบครัวในโคโคโมรู้สึกว่าภาพยนตร์พรรณนาคนในเมืองในทางลบ หลังจากภาพยนตร์ออกอากาศ นายกเทศมนตรีโคโคโม โรเบิร์ต เอฟ. ซาร์เจนต์ได้รับการต่อว่าจากคนทั้งประเทศ หรือแม้กระทั่งซาร์เจนต์จะไม่ได้เป็นนายกเทศมนตรีแล้วก็ตาม[29][28]

ต้นปี 1990 สุขภาพของไวต์ทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด การปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งสุดท้าย เขาเป็นพิธีกรในงานสังสรรค์หลังงานแจกรางวัลออสการ์ พร้อมกับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกา แนนซี เรแกน ในรัฐแคลิฟอร์เนีย[30] ถึงแม้ว่าสุขภาพเขาจะแย่ลง แต่ไวต์ก็ยังได้พูดกับเรแกนเกี่ยวกับวันงานพร้อมและความหวังที่จะได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัย[31]

เสียชีวิต

"พวกเราจะต้องทำเพื่อไรอัน เราต้องกำจัดความหวาดกลัวและความเขลาที่ไล่เขาออกจากบ้านและโรงเรียน พวกเราต้องเปิดใจ เปิดความคิดพวกเราแก่ผู้ป่วยโรคเอดส์เพื่อไรอัน พวกเราต้องเห็นอกเห็นใจ ใส่ใจและอดทนต่อผู้ป่วยโรคเอดส์ ครอบครัวและเพื่อนของพวกเขาเพื่อไรอัน สิ่งที่น่ากลัวคือโรคร้ายต่างหาก ไม่ใช่คนที่เป็น"
—อดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน, 11 เมษายน ค.ศ. 1990[31]

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1990 อีกหลายเดือนก่อนที่ไวต์จะจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย เขาเข้าโรงพยาบาลไรลีย์ ในอินดีแอนาโพลิส เกี่ยวกับการติดเชื้อทางลมหายใจ จากเหตุนี้ทำให้เขาต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและได้รับยาระงับความรู้สึก เอลตัน จอห์น มาเยี่ยมเขาและทางโรงพยาบาลได้รับสายโทรศัพท์มาอวยพรอย่างล้นหลาม ไวต์เสียชีวิตในวันอาทิตย์ใบปาล์ม เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1990[2]

มีคนร่วมงานศพ 1,500 คน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน เป็นพิธีจัดแบบยืน จัดที่โบสถ์เซคันด์เพรสบีเทเรียน บนถนนเมอร์ริเดียในอินดีแอนาโพลิส[30] ผู้หามหีบศพเช่น เอลตัน จอห์น, นักฟุตบอล ฮาววี ลองและฟิล โดนาฮิว เอลตัน จอห์นร้องเพลง "Skyline Pigeon" ในพิธีงานศพและร่วมฝึกกับนักร้องเสียงประสานโรงเรียนมัธยมปลายฮามิลตันไฮตส์ในการร้องครั้งนี้ ไมเคิล แจ็กสันและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง บาร์บารา บุช ก็มาร่วมงานด้วย ในวันงานศพ อดีตประธานาธิบดีเรแกน (ผู้ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างถ้วนหน้า[21] เพราะไม่ได้กล่าวถึงเอดส์ในการสุนทรพจน์ใดจนปี 1987 ถึงแม้ว่าเขาจะเคยพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ในงานแถลงข่าวที่เริ่มในปี 1985 แล้วก็ตาม) เขียนบทความไว้อาลัยแก่ไวต์ลงในหนังสือพิมพ์ วอชิงตันโพสต์[30][31] ถ้อยแถลงของเรแกนเกี่ยวกับเอดส์และงานศพของไวต์เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความช่วยเหลือในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเรื่องเอดส์ได้อย่างมาก[30]

ศพไวต์ฝังที่ซิเซโร ใกล้กับบ้านของแม่เขา ในปีที่เขาเสียชีวิต หลุมศพเขาถูกทำลายถึง 4 ครั้ง[32] แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลุมศพของไวต์ก็กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของผู้เลื่อมใส[33]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ไรอัน ไวต์ http://nhpf.ags.com/pdfs_bp/BP_RyanWhite_08-22-05.... http://www.ebar.com/news/article.php?sec=news&arti... http://www.gaywired.com/article.cfm?section=68&id=... http://www.history.com/videos/history-uncut-ryan-w... http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9C0... http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9E0... http://www.nytimes.com/1989/01/16/arts/review-tele... http://www.ryanwhite.com/ http://www.ryanwhite.com/index.html http://www.ryanwhite.com/pages/timeline.html